ลานกีฬาพัฒน์ 1 และศูนย์การเรียนรู้แบงก์ชาติ โมเดลการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อคนเมือง

#สช.ชูลานกีฬาพัฒน์ 1 และศูนย์การเรียนรู้แบงก์ชาติ เป็นโมเดลการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อคนเมือง

  #พร้อมกระตุ้นการปกครองท้องถิ่นทุกรูปแบบให้ตื่นตัว

 R-U-GO.COM: สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ(สช.)ครั้งที่ 11 พ.ศ.2561 มีฉันทมติเห็นชอบประเด็นนโยบาย “การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นางภารณี  สวัสดิรักษ์ รองประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2561-2562 และนางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2561-2562 ได้จัดกิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาดูงานตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของคนเมือง 2 แห่งด้วยกันคือ ‘ลานกีฬาพัฒน์1’และ‘ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย’ พร้อมถอดบทเรียนจากพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง ชูให้เป็นโมเดลความสำเร็จการร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมือง คาดหวังและกระตุ้นให้องค์การปกครองท้องถิ่นให้ตื่นตัวในเรื่องนี้

วัตถุประสงค์การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน  คือต้องการให้ประชาชนได้รับทราบและเห็นตัวอย่างของการบูรณาการของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของคนเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทาง สช.ได้หยิบยกให้ 2 พื้นที่ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนสามเสน และลานกีฬาพัฒน์1 การเคหะคลองจั่น เป็นโมเดลของโครงการนี้

นางภารณี  สวัสดิรักษ์ รองประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2561-2562 เผยว่าเนื่องจากพัฒนาการของความเป็นเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่สาธารณะที่ชุมชนจะใช้ประโยชน์ร่วมกันลดลงไปมาก ทั้งๆ ที่พื้นที่สาธารณะมีความสำคัญต่อสุขภาวะ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และความเท่าเทียมกันของสังคม แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่สาธารณะเพียง 6 ตรม.ต่อคน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้อย่างน้อย 9 ตรม. ต่อคน ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องบูรณาการความร่วมมือในการวางแผน ออกแบบและพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยปราศจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่ความเป็นเมืองสุขภาวะที่ดี (Wellness City) อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“พื้นที่สาธารณะทั้งสองแห่งทำดีอยู่แล้วก็ต้องทำดีต่อไป ถึงแม้ว่าพื้นที่ทั้งสองแห่งความแตกต่างกัน แต่ก็สามารถสร้างความเป็นสาธารณะให้คนในชุมชนได้มาร่วมใช้ชีวิตร่วมกัน กลายเป็นพื้นที่ให้คนได้มามีความสัมพันธ์ใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุ

เราอยากให้เมืองมีพื้นที่สาธารณะที่ดีแบบนี้ และอยากจะเชื่อมร้อย อย่างที่ลานกีฬาพัฒน์ 1 ตรงข้ามก็จะเป็นสวนนวมินทร์ ส่วนของการเคหะก็มีพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เราจะทำอย่างไรให้มีพื้นทีดีๆ เพื่อตอบโจทย์คนในเมือง แบบเชื่อมร้อยกัน ซึ่งทาง สช. ได้ทำเป็นแผนของเมืองแล้วก็ได้รับการยอมรับ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ จากหน่วยงานที่เกี่ยวไม่ว่าจะเป็นเอกชน สื่อมวลชน”

 

             ด้าน นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2561-2562 กล่าวว่า พื้นที่สาธารณะเราจะสร้างกันได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในทุกระดับของเมือง ขององค์กรปกครองท้องถิ่นทุกรูปแบบ เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้ได้สร้างขบวนการมีส่วนร่วมให้คนได้มาใช้ความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน พื้นที่สาธารณะไม่ใช่แค่พื้นที่เขียว พื้นที่ลานกีฬา แต่มันคือพื้นที่อะไรก็แล้วแต่ ที่คนในชุมชน คนในเมืองได้ออกมาสร้างสรรค์ร่วมทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม หรือทางเศรษฐกิจ เป็นสถานที่ๆ เชื่อมร้อยคนในเมืองมาร่วมกันคิด มาร่วมกันทำ ในการประชุมครั้งที่ 11 ที่ผ่านมา เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องบวก ไม่มีใครเห็นต่างๆ  ทุกคนคิดเหมือนกันว่าเป็นเรื่องสำคัญ และต้องสานพลังกัน ก็มีฉันทามติกันอย่างราบรื่น

“ ทาง สช. ได้ตระหนักในเรื่องว่านี้จะทำอย่างไรให้องค์การปกครองท้องถิ่นทุกรูปแบบกับชุมชนในพื้นที่ ภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวก้องได้มาร่วมกันกันผลักดันในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร”

ด้าน นายประกอบ ตอสุวพรรณ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจากเดิมประชาชนมีความรู้สึกว่าแบงค์ชาติเป็นองค์กรที่อยู่ไกลตัว ไม่สามารถจับต้องได้ นำมาสู่แนวคิดการพัฒนาพื้นที่ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ธนบัตรเก่าให้กลายเป็นพื้นที่ที่คนเข้าถึงได้ ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย และได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากการเข้ามาดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ของแบงค์ชาติ

ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. เปิดเมื่อเดือนมกราคม 2561 มุ่งเน้นสร้างความรอบรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) ให้แก่ประชาชน โดยมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1. ห้องสมุด 2. Co-working Space 3. พิพิธภัณฑ์ 4. ลานนิทรรศการ และ 5. หอจดหมายเหตุ โดยตลอดระยะเวลาเพียง 1 ปีที่ผ่านมา ได้มีประชาชนเข้ามาดำเนินกิจกรรมในพื้นที่แล้วกว่า 80,000 คน นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมกับประชาชน ทางศูนย์ฯ ยังมีการจัดอีเวนท์ให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและรับฟังข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ อาทิ “Book Talk Fes(Fiance/Economic/Social)” หรือการเล่าเรื่องโดยนักเขียน โดยจะเชิญนักเขียนแถวหน้าของไทยที่เขียนหนังสือทางด้านการเงิน สังคม และเศรษฐกิจ มาพูดคุยถ่ายทอดมุมมองการเขียนของตนทุกเย็นวันเสาร์สุดท้ายของเดือน  “Stories Sharing” หรือการเชิญกูรูในแต่ละด้านมานั่งพูดคุยกับกลุ่มคนผู้สนใจทุกวันศุกร์ที่ 2 ของเดือน “คุยกัน Money CBS” หรือการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน อาทิ การออม การเก็บเงินหลังเกษียณ เป็นต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างแบงค์ชาติและคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นทุกเย็นวันอังคาร และ “Econ Fin Talk and Share” หรือการบรรยายเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนด้านเศรษฐกิจและการเงิน

นายประกอบได้ถอดบทเรียนการสร้างศูนย์การเรียนรู้ของแบงก์ชาติให้เป็นพื้นที่สาธารณะว่า การจะทำให้เป็นพื้นสาธารณะต้องทำไรบ้าง อันดับแรกอยู่ที่นโยบายของหน่วยงานว่าอยากจะทำให้เป็นพื้นที่เป็นสาธารณะขนาดไหน นโยบาย ความจำกัดของสถานที่ คือสาระว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน บางที่อาจจะมีนโยบายแต่มีพื้นที่จำกัด และสิ่งที่สำคัญมากกว่ากว่านโยบายคือความพร้อม พร้อมที่จะเปิดเป็นสาธารณะ

“หัวใจสำคัญของการเปิดพื้นที่สาธารณะ อยู่ที่ตัวองค์กร ตัวพนักงานว่าทั้งสองส่วนมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ทางเรามองว่าเรื่องการมีพื้นที่สาธารณะมันเป็นเรื่องที่จำเป็นของสังคมสมัยใหม่ของประเทศไทยอย่างยิ่ง การจะทำพื้นที่สาธารณะมันอยู่ที่ดีเอ็นเอ อย่างแบงก์ชาติ มีดีเอ็นเออยากทำเท่าที่จะทำได้ พอการมีศูนย์เรียนรู้มันต้องเปลี่ยน Mindset  เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ ซึ่งนำมาสู่การแสดงออก การสื่อสาร การจะพูดสื่อสารเป็นศัพท์วิชาการร้อยเปอร์เซ็นต์มันไม่ได้ เพราะพื้นที่สาธารณะมันจะมีผู้คนที่หลากหลายรูปมาคุยกับเรา ถ้าในอินเนอร์ไม่มี จิตอสา ไม่มีจิตให้บริการ มันจะเป็นเรื่องที่ยากมาก วันนี้ที่เราทำได้ก็เพราะว่าเรามีจิตบริการที่มากเป็นพิเศษ”

 

นายเอกมงคล ปัญญาไว ประธานคณะกรรมการลานกีฬาพัฒน์1 ได้ถอดบทเรียนของ ลานกีฬาพัฒน์ 1 ว่า ที่นี่ได้ก่อตั้งมาประมาณ 7 ปี เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนมีสุขภาพดี และได้ใช้สอยประโยชน์จากพื้นที่ในชุมชน โดยการพัฒนาพื้นที่ที่เคยรกร้าง เริ่มจากการที่สถาบันอาศรมศิลป์ร่วมกับชาวชุมชนทำประชาพิจารณ์ความต้องการของการใช้พื้นที่ ทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของพื้นที่ เกิดการเข้ามาใช้ประโยชน์ และเกิดการดูแลให้เป็นพื้นที่ที่สวยงามและสะอาดอยู่เสมอ

นอกเหนือจากการเป็นลานกีฬาให้ประชาชนได้เข้ามาเล่นกีฬาประเภทต่างๆ แล้ว ยังมีการออกแบบเพื่อให้ผู้ที่อยู่บนอาคารการเคหะคลองจั่นมีที่ที่จะออกมาจากห้องสีเหลี่ยมมาทำกิจกรรมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ มีการปลูกพืชที่หาได้ง่ายๆ ตามบ้าน อาทิ พืชผักสวนครัว สมุนไพร ตลอดจนการจัดให้มี ‘ชาน’ ให้คนในแต่ละกลุ่มวัยสามารถมาทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ ชานเด็ก ชานผู้สูงอายุ และชานสุขภาวะ อีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *