ชิลรับลมหนาวที่เขาค้อ ร่วมเทิดเกียรติ “วีรบุรุษเขาค้อ”

1 min read

ชิลรับลมหนาวที่เขาค้อ ร่วมเทิดเกียรติ “วีรบุรุษเขาค้อ” ณ เรือนร่มเกล้า กับ ชมรม นตน. 18 และ จปร.11

R-U-GO.COM:หนึ่งในกิจกรรมที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติประจำปีของชมรม ฯ นั่นก็คือการพาเหล่าสมาชิกได้ออกทริปท่องเที่ยว เพื่อเป็นการพบปะสังสรรค์ประจำปี

ในปีนี้ พลเอก สมหมาย วิชาวรณ์ ประธานชมรม นักเรียนเตรียมนายร้อย รุ่น 18 และ ประธานนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 11 ได้พาเหล่าสมาชิกร่วมออกเดินทางท่องเที่ยวเป็นทริปที่พิเศษ เพราะจะได้ไปร่วมเทิดเกียรติ วีรบุรุษเขาค้อ “พลเอก หาญ เพไทย”ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น นตน.18 และ จปร.11

กับทริปที่ชื่อว่า “ต้อนรับสายลมหนาว อุทยานแห่งชาติเขาค้อ เทิดเกียรติ “อนุสรณ์ พลเอก หาญ เพไทย” ณ เรือนร่มเกล้า พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำเข็ก กราบสักการะพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก”

 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2567

พลเอก สมหมาย วิชาวรณ์ ประธานนักเรียนเตรียมนายร้อยรุ่น 18 (นตน.18) และ ประธานนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 11 (จปร. 11) ) เล่าถึงชมรมฯและกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ของเหล่าสมาชิกประจำปีในครั้งนี้ว่า สมาชิกชมรมฯ ซึ่งมีอายุโดยเฉลี่ย 85 ปี เข้าเรียน นตน.ปี 2500 จบ จปร.ปี 2507 เกษียณอายุราชการมา 25-26 ปีแล้ว

“หลังจากเกษียณ ก็จะมาพบปะสังสรรค์กันเป็นประจำ โดยชมรมตั้งเป้าว่าในแต่ละปีจะมีการเลี้ยงสังสรรค์กันทั้งครอบครัวปีละครั้ง และไปทัศนศึกษาท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เพื่อละเว้นความเงียบเหงาและเป็นการสังสรรค์ ผูกพันภายในรุ่นอีกด้วย

สำหรับปีนี้เป็นการเดินทางมาเที่ยวเขาค้อ จุดมุ่งหมายที่พาสมาชิกมาที่นี่ก็เพราะว่า ต้องการให้เพื่อน ๆ ได้มารับทราบ สถานการณ์ในอดีตของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งเมื่อย้อนหลังไปราวห้าสิบปีนั้น ที่เขาค้อแห่งนี้เป็นพื้นที่สู้รบกันอย่างเข้มข้น แต่ในปัจจุบันคนในพื้นที่เขามีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายมากและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และอยากให้เพื่อนๆ ได้รับทราบว่ามีเพื่อนร่วมรุ่นของเราหลายคนได้เคยมาทำงานกันอย่างเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออยากให้เพื่อนๆ มาเทิดเกียรติ ชื่นชมเกียรติประวัติเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่ง นั่นก็คือ พลเอก หาญ เพไทย ซึ่งบุคคลผู้นี้เป็นผู้มีประวัติการรบที่ห้าวหาญ ในการทำงานเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างเข้มแข็งมาก

ในทุกภารกิจ ในทุกพื้นที่ที่มีการสู้รบ หาญ ได้เป็นแบบอย่างผู้ที่เสียสละโดยไม่คำนึงถึงอันตรายต่อชีวิตและได้นำหน่วยบรรลุภารกิจทุกครั้ง ซึ่งบางครั้งตัวเองต้องได้รับบาดเจ็บสาหัสก็ไม่เคยย่อท้อ

ในขณะนี้ถึงแม้ หาญ จะได้จากพวกเราไปแล้ว แต่คนรุ่นหลัง ๆ ที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมรุ่นก็ดี ผู้บังคับบัญชาก็ดีได้เล็งเห็นการปฏิบัติตนที่น่าเป็นแบบอย่าง จึงได้เชิดชูยกย่องให้เขาเป็นวีรบุรุษนักรบ วีรบุรุษเขาค้อ และได้สร้างรูปปั้นอนุสรณ์เท่าตัวจริง ของ พลเอก หาญ เพทาย ไว้ในพื้นที่ที่เคยเป็นสมรภูมิสู้รบ

ขณะนี้รูปปั้นดังกล่าวได้ตั้งอยู่ที่ หน้าพิพิธภัณฑ์การสู้รบของเขาค้อแห่งนี้ เราจึงได้นำพาเพื่อนๆ มาร่วมรำลึกถึงความดีงาม เพื่อจะส่งความระลึกถึงไปยัง หาญ ไม่ว่าเขาจะรับทราบด้วยญาณวิถีใดก็ตามว่าเพื่อน ๆ ยังระลึกถึงเขาอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าสังคมทั่วไป หรือคนรุ่นหลังจะไม่รับทราบ ไม่สนใจก็ตาม แต่เกียรติประวัติของเพื่อนคนนี้ยังอยู่ในหัวใจของเราตลอดไป”

 

รูปปั้นอนุสรณ์ พลเอก หาญ เพไทย ในชุดสนามพร้อมรบ กำลังสั่งการให้กำลังพลเข้าโจมตีที่มั่นของฝ่ายตรงข้าม ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในพื้นที่ของเรือนร่มเกล้า ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจเริ่มสร้างขึ้นที่จังหวัดตาก เมื่อปี 2561 โดยผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาได้ร่วมกันสร้างขึ้นอย่างถูกต้องตามหลักการให้เหมือนตัวจริงที่สุด และมีการเข้าพิธีต่างๆ แล้วนำมาตั้งไว้ที่นี่ เมื่อปี 2564

เรือนร่มเกล้า พิพิธภัณฑ์โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กแห่งนี้นอกจากจะมีรูปปั้นอนุสรณ์ พลเอก หาญ เพไทย ให้ได้มาร่วมระลึกถึงความเก่งกล้าของวีรบุรุษเขาค้อแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม ในช่วงการสู้รบระหว่างคนไทยกับคนไทยได้อย่างน่าสนใจ

จ่าสิบเอก พิศิษฐ เสนา เจ้าหน้าที่ดูแลเรือนร่มเกล้า หรือพิพิธภัณฑ์ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาว่า

เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำเข็ก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ย้อนอดีตไปเมื่อปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา ได้เกิดภาวะความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้มีการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

โดยฝ่ายก่อการร้ายได้ยึดพื้นที่บริเวณเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และ เลย โดยใช้พื้นที่บริเวณเขาค้อเป็นศูนย์กลางบัญชาการรบและต่อต้านรัฐบาล ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2520 ทางฝ่ายความมั่นคงได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์ขึ้นรวมสามสิบกว่าหมู่บ้าน และได้ใช้นามสกุลของผู้เสียชีวิตจากการสู้รบตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลและได้พัฒนาพื้นที่ทำให้ประชาชนสองพันครอบครัวมีพื้นที่ทำกินมีอาชีพและมีรายได้ และพื้นที่แห่งนี้ได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อีกด้วย

ส่วนเรือนร่มเกล้าแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และ พระบรมราชินีนาถทรงเสด็จมาเยี่ยมราษฎรและมอบสิ่งของพระราชทานแก่ตำรวจ ทหาร อาสาสมัครในช่วงเวลาสู้รบ

และที่สำคัญเรือนร่มเกล้าแห่งนี้ได้ปรับเป็นที่ประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันอีกด้วย พื้นที่โดยรอบจะเป็นแปลงทดลองปลูกพืชพักผลไม้เมืองหนาวภายในพิพิธภัณฑ์จะมีข้อมูล ประวัติศาสตร์ในการสู้รบรอยต่อสามจังหวัด มีโต๊ะทราย และภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอีกประการหนึ่งเรือนร่มเกล้ายังมีการส่งเสริมการปลูกพืชพรรณบริเวณที่ตั้งเหมาะแก่การส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เพื่อถ่ายทอดเกียรติประวัติของชาติของหน่วยที่มีคุณค่าให้กับเยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาและใช้เป็นที่พักผ่อนอีกแห่งหนึ่งด้วย

หลังจากนั้นทางคณะได้แวะกราบสักการะพระพุทธชินราช ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก(วัดใหญ่) อ.เมือง จ.พิษณุโลก “วัดใหญ่” สร้างขึ้น ในสมัยกรุงสุโขทัย มีสถาปัตยกรรม และ ประติมากรรมที่งดงามเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองพิษณุโลก

ต่อด้วยการเดินทางไปยัง “ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 กราบสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช , สมเด็จพระเอกาทศรถ, พระพี่นางสุพรรณกัลยา

แล้วร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ณ สโมสรบันเทิงทัพ กองทัพภาคที่ 3 พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ และข้าราชการในกองทัพภาคที่ 3 ได้อำนวยความสะดวกและดูแลต้อนรับคณะด้วยความอบอุ่น เป็นกันเองอย่างดียิ่ง

การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อกระชับความผูกพันของเหล่าสมาชิกชมรมฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมประจำปีของชมรมในปีนี้ นอกจากจะได้สัมผัสลมหนาวแรกของปีที่เขาค้อแล้ว ยังได้ไปร่วมระลึกและเชิดชูเกียรติ วีรบุรุษเขาค้อ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นอีกด้วย

การเดินทาง 2 วัน 1 คืน จบลงแบบแฮปปี้ เอนดิ้ง อย่างสมบูรณ์ในทริปนี้ ต้องยกความดีความชอบให้กับผู้ที่อยู่เบื้องหลังนั่นก็คือ ร.ต.โสภณ สาสกุล

You May Also Like

More From Author

+ There are no comments

Add yours