สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี เดินหน้าเพิ่มศักยภาพกลุ่มหมู่บ้านมูลค่าสูง

1 min read

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี เดินหน้าเพิ่มศักยภาพกลุ่มหมู่บ้านมูลค่าสูง

R-U-GO.COM:สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี เดินหน้าเสริมแกร่งผู้นำกลุ่มหมู่บ้านมูลค่าสูง กระทุ้งไอเดียให้ตกตะกอนด้วยการพาตัวแทนชุมชนจาก 6 อำเภอ ออกเดินทางไปสัมมนาและศึกษาดูงาน ​ “เพิ่มศักยภาพเครือข่ายภาคการเกษตรในการบริหารจัดการแบบกลุ่ม” ​​ ภายใต้โครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ​ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รุ่นที่ 1

ระหว่างวันที่ 16 -18 กรกฎาคม 2567 ณ จังหวัดชลบุรี และ จังหวัดระยอง

 นายธนวัฒน์ สารสิน นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า

โครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานในครั้งนี้เป็นการเพิ่มศักยภาพเครือข่ายภาคการเกษตร กลุ่มเป้าหมายที่มาจะเป็นกลุ่มหมู่บ้านมูลค่าสูงของจังหวัดลพบุรี จาก 23  หมู่บ้านใน 11 อำเภอ  วัตถุประสงค์คือต้องการให้กลุ่มผู้นำ ผู้แทนกลุ่มในการผลิตสินค้าเกษตรชุมชน ได้มาเรียนรู้และพบเห็นในการบริหารจัดการกลุ่ม ในแต่ละกลุ่มที่เราพาไปศึกษาดูงานจะได้เรียนรู้ การบริหารจัดการชุมชน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง  ซึ่งแต่ละชุมชนก็จะมีวิธีจัดการ ที่จะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ในเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงและสร้างรายได้ จนสามารถตั้งตัวของเกษตรกรในพื้นที่ และชุมชนพึ่งพาตัวเองได้

“โครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน รุ่นที่ 1ในครั้งนี้  เรามาทั้งหมด 6 อำเภอ 12  หมู่บ้านด้วยกันคือ

อำเภอชัยบาดาล จะเป็นแปลงใหญ่หน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งทั้งสองหมู่บ้านผลิตส่งทั้งในพื้นที่ และส่งออกต่างประเทศด้วย

 อำเภอท่าหลวง มีกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน วิสาหกิจชุมชนใบหม่อนฟาร์ม ผลิตจิ้งหรีดเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพสูง ในอนาคตคาดว่าจะผลิตส่งออกไปยังต่างประเทศ อาทิเวียดนาม จีน มาเลเซีย สิงคโปร์

อำเภอพัฒนานิคม มีกลุ่มผลิตกล้วยแปรรูปต่าง ๆ กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเขามีสัญญากับทางบริษัท เบทาโกรฯ

อำเภอเมือง กลุ่มผู้ผลิตเมล่อน และกลุ่มแปรรูปปลานิล

อำเภอท่าวุ้ง กลุ่มปลูกพืชผักสมุนไพร และกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว

อำเภอลำสนธิ จะเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ปลาตะเพียน และแปลงใหญ่มันสำปะหลัง

ซึ่งตัวแทนชุมชนจะได้มาเรียนรู้ขบวนการผลิต การแปรรูป การตลาด และเรื่องที่สำคัญคือแนวคิด การปรับตัวในการบริหารชุมชน และการผลิตสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด และให้มีมูลค่าให้สูงขึ้น”

โครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน รุ่นที่ 1 ทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี ได้พาเกษตรกรจังหวัดลพบุรีไปศึกษาดูงานในสถานที่ได้แก่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ ต.ท่าข้าม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ฟังการบรรยายในหัวข้อ “การผลิตและแปรรูปปลาให้ปลอดภัยได้มาตรฐาน”

โดยประธานกลุ่มนางสาวนุชจรี บุญมี

ซึ่งประธานกลุ่มได้ให้ข้อคิดในเรื่องการบริหารจัดการชุมชนให้ประสบความสำเร็จว่า

“การทำงานด้านมวลชน ปัญหาหลักก็คือเรื่องคน เพราะคนคือปัจจัยหลักที่จะทำให้ชุมชนประสบความสำเร็จ หลักการที่ใช้ก็คือหลักการ  “ฅ” คือแนะนำ นำให้ดู อยู่ให้เห็น คอยเป็นกำลังใจ และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง”

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ ต.ท่าข้าม นี่คือกลุ่มตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องการเพาะเลี้ยงปลานิลได้อย่างครบวงจร และยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกิดมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น จ๊อปลาเพื่อสุขภาพ ปลานิลแดดเดียว ปลายอพริกไทยดำ คั่วกลิ้งปลานิล ที่ได้คุณภาพ GAP ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. และยังมีการวางแผนการผลิตให้แก่สมาชิกได้อย่างเป็นระบบ สามารถสร้างรายได้ที่แน่นอนและมั่นคง

คูโบต้าฟาร์ม ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ฟังการบรรยาย“เทคโนโลยี และนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่เพื่อช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต”

คูโบต้าฟาร์ม เป็นแหล่งเรียนรู้ที่คำนึงถึงความต้องการของเกษตรกรเป็นหลัก เสมือนจุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการนวัตกรรมเกษตรทั้งเทคนิคด้านการเกษตร ผสานการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร  เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความผันแปรของผลผลิตในแต่ละปีให้น้อยที่สุด และช่วยให้เกษตรกรทราบผลผลิตในแต่ละปีได้อย่างแม่นยำมากขึ้น สามารถคาดการณ์ผลผลิตและคุณภาพ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงทุกนวัตกรรมเกษตรครบวงจรที่ใช้ได้จริง อีกทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม

คูโบต้าฟาร์ม ให้ความสำคัญขององค์ความรู้แบบครบวงจรที่ครอบคลุมในภาคอุตสาหกรรมเกษตรของไทยและภูมิภาคอาเซียน จึงได้สร้างศูนย์การเรียนรู้ออกเป็น 9 โซนด้วยกัน

หมู่บ้านจำรุง ต.หนองฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง ฟังการบรรยาย “การบริหารจัดการหมู่บ้านให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพการรวมกลุ่มการผลิตสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง” พร้อมศึกษาดูงาน “หมู่บ้านจำรุง หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและ มหาวิทยาบ้านนอก”

บ้านจำรุง เป็นศูนย์รวมกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มธนาคารต้นไม้ กลุ่มเกษตรพื้นบ้าน กลุ่มตีมีด กรีดยาง ธนาคารขยะ ฯลฯ สนใจกลุ่มไหนมาศึกษาหาความรู้ได้ หรือจะมานอนพักแบบโฮมสเตย์ เพื่อศึกษาวิถีชาวบ้าน ที่นี่ยังเป็นศูนย์รวมความรู้ ประสบการณ์การจัดการเครือข่ายองค์กรชุมชน มีชุดความรู้ที่แน่นเพียงพอที่จะบอกว่าเป็น สถาบันเรียนรู้ความเข้มแข็งองค์กรชุมชน ที่นี่คือ โลกแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด และเรียกขานกันจนติดปากว่า มหาวิทยาลัยบ้านนอก

ศูนย์บริการ การพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง รับฟังการบรรยาย “การบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรให้มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน”

​​ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยได้ทรงพระราชทานแนวทางการพัฒนา 4 ข้อคือ ให้พัฒนาด้านการเกษตร โดยเฉพาะด้านปศุสัตว์ การประมง เพื่อการบริโภคและสำรองอาหารไว้ในยามวิกฤต มูลสัตว์ทำเป็นเชื้อเพลิงและปุ๋ยปรับปรุงดิน ให้มีศูนย์ฝึกปฏิบัติการด้านการประกอบอาชีพ ให้จัดเป็นศูนย์กลางส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยให้ประชาชนขอยืมพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่ดีไปผสม หรือเลี้ยงแล้วส่งลูกคืน หรือขายให้ราษฎรนำไปเลี้ยงและให้มีศูนย์พัฒนาการเกษตรที่ราษฎรจะได้ศึกษาและเยี่ยมชม เพื่อนำเอารูปแบบไปปรับปรุงไร่นาของตนเอง

You May Also Like

More From Author

+ There are no comments

Add yours