สำนักงานเกษตรฯลพบุรี ยกทัพเกษตรกรลพบุรี บุกอีสานเหนือ สกลฯ อุดรฯ ขอนแก่น เรียนรู้เกษตรปลอดภัย ได้มาตรฐาน ณ สถานที่จริง

1 min read

สำนักงานเกษตรฯลพบุรี ยกทัพเกษตรกรลพบุรี บุกอีสานเหนือ สกลฯ อุดรฯ ขอนแก่น

เรียนรู้เกษตรปลอดภัย ได้มาตรฐาน ณ สถานที่จริง

 

R-U-GO.COM: สำนักงานเกษตรกรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี ยกทัพเกษตรกรจากเมืองลิงลพบุรี บุกอีสานเหนือ 3 จังหวัด

จังหวัดสกลนนคร เรียนรู้เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของเกษตร ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จังหวัดอุดรธานี เรียนรู้สถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน ณ ตลาดเกษตรกรอุดรธานี หรือตลาดร่มเขียว และไปเรียนรู้การผลิตพืชผักให้ได้มาตรฐาน ทั้ง GAP และอินทรีย์ ณ ฟาร์มผักบ้านดอนม่วง

จังหวัดขอนแก่นไปเรียนรู้เกษตรยกระดับเชื่อมโยงเข้าสู่โมเดิร์นเทรด ณ กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวา

 

นายธนวัฒน์ สารสิน นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรกรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี กล่าวว่าการนำเกษตรกรจากจังหวัดลพบุรีไปศึกษา และเรียนรู้การทำเกษตร จากกลุ่มเกษตรกร 3 จังหวัดของภาคอีสานในครั้งนี้ วัตถุเพื่อเป็นการยกระดับสินค้าเกษตรเข้าสู่มาตรฐานปลอดภัยและอินทรีย์เพื่อเชื่อมโยงการจำหน่ายสินค้าใน Modern Trade  เป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ และอาหารปลอดภัย ภายใต้โครงการส่งเสริมการตลาด การบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัย ตามแผนปฏิบัติราชการจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567

“เกษตรกรลพบุรีเรามีสมาชิก 250 กลุ่ม ราว 50%  ประมาณร้อยกว่ารายเท่านั้นที่ได้มาตรฐานสินค้าเกษตร แต่เรายังมีสินค้าอื่นที่เป็นความต้องการของตลาดก็ยังไม่ได้มาตรฐานเหมือนกัน ดังนั้นเราต้องเร่งผลักดันตรงนี้ ให้เกิดมาตรฐาน เพื่อจะได้ควบคู่เชื่อมโยงไปยังโมเดิร์นเทรดได้” นายธนวัฒน์กล่าว

ด้วยเหตุนี้การนำทัพเกษตรกรจากลพบุรี มาเรียนรู้ ณ สถานที่จริงของ 3 จังหวัดทางอีสานครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรจากลพบุรีให้ได้เรียนรู้ และมีแรงบันดาลใจ ซึ่งสถานที่สำนักงานเกษตรฯลพบุรี พามาเรียนรู้ถึงสถานที่จริง ประกอบด้วย

จังหวัดสกลนคร : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : เรียนรู้เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525  เพื่อเป็นแบบจำลองของภาคอีสานและเป็นพื้นที่ส่วนย่อที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาให้ภูมิภาคนี้เกิดความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ปิยะธิดา จงอยู่ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้เรามีฐานการเรียนรู้ที่หลากหมาย มากกว่า 20 ฐาน และยังให้ความช่วยเหลือด้านความรู้ทางวิชาการเทคโนโลยี การฝึกอบรม การสนับสนุนพันธุ์พืชและสัตว์แก่ศูนย์สาขา เพื่อให้คนในพื้นที่ มีรูปแบบการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับท้องถิ่น

สำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการมาเรียนรู้ เรามีฐานเรียนรู้ไว้ให้เลือกตามความสนใจ หรือต้องการให้ทางเราจัดเตรียมอาหารให้อย่างกลุ่มจากสำนักงานเกษตรฯ ลพบุรี ทั้งมื้อเช้าและมื้อกลางวันทางเราก็ยินดี

ทางด้านายธนวัฒน์ กล่าวว่า

“การพาเกษตรกรลพบุรีมาดูงานในสถานที่จริง ของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้  ก็เพราะต้องการให้ได้เรียนรู้เรื่องเกษตรผสมผสาน เรื่อง เกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของเกษตร ที่มีเกษตรกรทั้งรายใหม่ และรายเก่าที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้”

 

อุดรธานี: เรียนรู้สถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน ณ ตลาดเกษตรกรอุดรธานี

ตลาดเกษตรกรอุดรธานี หรือตลาดร่มเขียวแห่งนี้ใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี เป็นสถานที่จัดจำหน่ายสินค้าที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร เป็นตลาดที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกตลาดเกษตรกรต้นแบบ มีคุณสมบัติตลาดเกษตรกร ที่ตรงตามมาตรฐานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สินค้าใหม่ สด สะอาด ได้มาตรฐานพรีเมี่ยม คุณภาพดี ราคาถูก และยังเป็นต้นแบบตลาดสดเกษตรกร 1 ใน 10 ของกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2557

เปิดจำหน่ายทุกวันศุกร์และวันเสาร์ เวลา 06.00-15.00 น. มีเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กลุ่ม Young Smart Farmer และ Smart Farmer เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรทฤษฎีใหม่ ต่างนำผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาจำหน่ายมากกว่า 57 ร้าน มีทั้งผักปลอดภัยจากสารพิษ ผักอินทรีย์ ผลไม้ สินค้าแปรรูป และสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย โดยจะมีคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพและสุ่มตรวจสินค้าทุกเดือน ผู้บริโภคมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยและได้มาตรฐาน

นายธนวัฒน์ ได้ถอดบทเรียนจากการได้มาเรียนรู้ที่ตลาดร่มเขียวแห่งนี้ว่า

“นี่คือสถานที่รวบรวมผลผลิตของเกษตรกรที่ศักยภาพ ที่ได้มาตรฐานนำมาจำหน่าย ไว้ ณ จุดจำหน่าย ถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ และยอดจำหน่าย ค่อนข้างสูง เป็นจุดที่เราต้องนำไปประยุกต์ใช้กับลพบุรี ซึ่งตลาดแบบนี้ที่ลพบุรีก็มี น่าจะถือว่าเป็นหนึ่งเดียวในประเทศที่มีตลาดเกษตรทุกอำเภอ มีสมาชิก 250 ราย”

 

เรียนรู้การผลิตพืชผักให้ได้มาตรฐาน ทั้ง GAP และอินทรีย์ ณ ฟาร์มผักบ้านดอนม่วง

ฟาร์มผักบ้านดอนม่วง เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตั้งอยู่หมู่ 3 บ้านดอนม่วง ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563

นางวงจันทร์ แดงสนาม เลขากลุ่มฯ กล่าวว่า ทางกลุ่มมีสมาชิก 10 คน ดูแลการผลิตตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำทุกขั้นตอนการผลิตด้วยความเอาใจใส่ โดยมีเป้าหมายผักมาตรฐานคุณภาพสินค้าห้าง จากความร่วมแรงร่วมใจของสมาชิก ส่งผลให้ฟาร์มผักบ้านดอนม่วงแห่งนี้ เป็นที่รู้จักของชุมชน และกำหนดสร้างเครือข่ายขยายตลาด สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ฟาร์มผักบ้านดอนม่วงเป็นฟาร์มปลูกผักออร์แกนิค มาตรฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการคัดแต่งผักผลไม้ ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีคอยให้คำแนะนำ

นายธนวัฒน์ กล่าวถึงการพาเกษตรกร จากลพบุรีมาเรียนรู้ที่ฟาร์มผักบ้านดอนม่วงว่า เกษตรกรจะได้รู้วิธีการทำพืชผักให้ได้มาตรฐาน ทั้ง GAP และอินทรีย์ ถ้าเราทำได้ก็จะมีแหล่งจำหน่ายที่ชัดเจน

 

ขอนแก่น: ไปเรียนรู้เกษตรยกระดับเชื่อมโยงเข้าสู่โมเดิร์นเทรด ณ กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวา

นายอภิสิทธิ์ ชุมยางสิม ประธานกลุ่มเกษตรทำสวนบ้านโนนเขวา บอกถึงที่มาของกลุ่มว่า เกิดจากเมื่อครั้งที่มีโครงการพระราชดำริชื่อ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

บ้านโนนเขวานับเป็นแหล่งปลูกผักสดที่มีคุณภาพในปริมาณที่มากที่สุด ทั้งยังมีองค์ประกอบหลายอย่างที่สมบูรณ์ มีความพร้อมสำหรับการผลิตเพื่อส่งขายให้กับทางเทสโก้ โลตัส ซึ่งถือเป็นความยุติธรรมด้านราคาขาย โดยทางเทสโก้ โลตัส บ้านโนนเขวา ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เปิดโอกาสให้ทางกลุ่มกำหนดราคาตามต้นทุน/กำไรตามความเหมาะสมและคุ้มค่ากับการเสนอขาย

โดยใช้หลักคิด “การตลาดนำการเกษตร” เน้นให้สมาชิกกลุ่มผลิตผักให้ได้มาตรฐาน GAP เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและสร้างฐานตลาดที่มั่นคงต่อยอดเพื่อเป็นการปลูกผักแปลงใหญ่

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า

“กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวาเป็นอีกก้าวที่เขาสามารถยกระดับสินค้า เชื่อมโยงเข้าสู่โมเดิร์นเทรด ที่ได้โลตัสเข้ามาให้การสนับสนุน และเราได้เรียนรู้ว่า “เรื่องกลุ่มเป้าหมาย” ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดสำคัญ ทำให้มองเห็นถึงมาตรฐานของการรวมกลุ่ม และความพร้อมต่าง ๆ ที่จะต่อยอดได้ และเรื่องที่สำคัญก็คือมาตรฐาน ส่วนจังหวัดลพบุรีของเรายังไม่มีโรงส่วนคัดแยก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของพวกรายเดี่ยว ที่เขามีกำลังทรัพย์ มีทุนมาทำห้องคัดแยกเอง

ลพบุรีส่วนใหญ่จะเน้นขายตลาดนัดมากกว่าส่งโมเดิร์นเทรด จะเป็นห้องบรรจุเล็ก ๆ ภายในครัวเรือน ซึ่งโรงรงขนาดใหญ่ยังไม่มี แต่ก็มีแนวคิดที่จะทำเหมือนกัน แต่เนื่องจากผลผลิตเรายังมีไม่มากพอที่จะนำไปเชื่อมโยงกับแหล่งจำหน่ายได้”

นายธนวัฒน์ กล่าวสรุปถึงความสำเร็จในการพาเกษตรกรมาเรียนรู้ดูงานในสถานที่จริงครั้งใน ใน 3 จังหวัดทิ้งท้ายว่า

“เรื่องที่สำคัญคือการเชื่อมโยงเข้าสู่แหล่งจำหน่ายและควบคุมในเรื่องมาตรฐาน เราต้องเร่งผลักดันตรงนี้ ให้มันเกิดมาตรฐาน มันจะได้ควบคู่เชื่อมโยงไปยังโมเดิร์นเทรดได้ จริง ๆ เรื่องมาตรฐานไม่ยาก แต่ผลการผลิตต่อเนื่องมันยาก เนื่องจากสภาพอากาศลพบุรีไม่เอื้ออำนวย เราต้องผลิตตามฤดูกาล สภาพอากาศไม่เหมือนทางภาคเหนือ หรือเมืองที่เขามีภูเขา หรือเมืองที่มีอากาศดี ๆ  ที่มีความชื้นที่เหมาะสม ก็จะผลิตได้อย่างต่อเนื่องได้ทั้งปี”

You May Also Like

More From Author

+ There are no comments

Add yours