โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำแม่น้ำน่านจังหวัดน่าน จังหวัดพิจิตร และจังหวัดนครสวรรค์
กรมชลฯ วาง 2 โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำน่าน “น้ำปั้ว-ไหล่น่าน” “ฆะมัง”
หวังเป็นเครื่องมือ “แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง” อย่างยั่งยืน
R-U-GO.COM;เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมปัญญาโรจน์ โครงการชลประทานพิจิตร ต.ท่าหลวง อ.เมือง จ.พิจิตร
นายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นายฉัตรชัย ทองปอนด์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครสวรรค์ นายพนมศักดิ์ ใช้สมบูรณ์ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 1 นายธนบดี รักสัตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3
นำสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดพิจิตรเพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ พร้อมเสนอ 2 โครงการเร่งด่วน “ประตูระบายน้ำน้ำปั้ว-ไหล่น่าน” และ “ประตูระบายน้ำฆะมัง”
หวังเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม ลำน้ำน่าน อย่างยั่งยืน
นายพรมงคล กล่าวว่า
ที่ผ่านมาได้มีการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำมาโดยลำดับ โดยมีแหล่งเก็บกักน้ำที่สำคัญ อาทิเช่น เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก เขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนทดน้ำนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เมื่อรวมกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ 10,430.25 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีแผนพัฒนาจัดหา แหล่งเก็บกักน้ำในระยะกลาง (ปี 2565-2575) เพิ่มเติมอีก เช่น อ่างเก็บน้ำน้ำปาด (ภูวังผา) อ่างเก็บน้ำน้ำกอน อ่างเก็บน้ำน้ำกิ และอ่างเก็บน้ำน้ำยาว เป็นต้น ซึ่งหากพัฒนาได้ทั้งหมดก็มีน้ำเก็บกักได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 799 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน จึงมีนโยบายที่จะหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีกโดยการใช้ลำน้ำน่านเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ จึงเป็นที่มาของโครงการที่กำลังดำเนินการศึกษา ฯ
จากการศึกษาแผนหลักประตูระบายน้ำในแม่น้ำน่านทั้งพื้นที่ด้านเหนือและท้ายของเขื่อนสิริกิติ์ พบว่า มีทั้งหมด จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ (1) ปตร.ผาจา จังหวัดน่าน (2) ปตร.น้ำปั้ว-ไหล่น่าน จังหวัดน่าน (3) ปตร.ท้ายเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก (4) ปตร.โคกสลุด จังหวัดพิษณุโลก (5) ปตร.ฆะมัง จังหวัดพิจิตร (6) ปตร.บ้านห้วยคต จังหวัดพิจิตร และ (7) ปตร.วังหมาเน่า จังหวัดนครสวรรค์
ผลการคัดเลือกแผนงานโครงการอาคารบังคับน้ำที่ดำเนินการก่อสร้างในลำน้ำน่านและมีศักยภาพความจำเป็นในลำดับต้น ได้แก่ พื้นที่ด้านเหนือเขื่อนสิริกิติ์ คือ โครงการประตูระบายน้ำ น้ำปั้ว-ไหล่น่าน จังหวัดน่าน และ พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนสิริกิติ์ พบว่า โครงการประตูระบายน้ำฆะมัง จังหวัดพิจิตร จึงได้นำโครงการดังกล่าวไปดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำ น้ำปั้ว-ไหล่น่าน มีที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลน้ำปั้ว และตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำน่าน มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กควบคุมระดับน้ำโดยบานประตูเหล็กโค้ง ผสมฝายสันมนชนิดคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดบานประตูความกว้างช่องละ 12.50 ม. สูง 9 ม. จำนวน 6 ช่อง ฝายน้ำล้นชนิดฝายสันมนคอนกรีตเสริมเหล็กกว้างช่องละ 15 ม. สูง 9 ม. จำนวน 2 ช่อง อัตราการระบายน้ำสูงสุด 3,000 ลบ.ม. /วินาที มีระดับกักเก็บ +184 เมตร (รทก.) สามารถกักเก็บน้ำได้ 3.55 ล้าน ลบ.ม. โดยระยะกักเก็บน้ำในลำน้ำน่าน 18 กม. นอกจากนั้นยังมีทางผ่านปลาชนิด Pool Type Vertical Slot ความกว้าง 3 เมตร ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของประตูระบายน้ำ พร้อมประตูเรือสัญจรแบบแห้งชนิดเครนยกข้าม โดยมีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ 22,000 ไร่ ครอบคลุม ครอบคลุม 6 ตำบล ได้แก่ 1) ต.กองควาย อ.เมืองน่าน 2) ต.น้ำปั้ว 3) ต.ตาลชุม 4) ต.กลางเวียง 5) ต.ปงสนุก และ 6) ต.นาเหลือง อ.เวียงสา จ.น่าน
ส่วนโครงการประตูระบายน้ำฆะมัง มีที่ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 4 บ้านบางเพียร ตำบลฆะมัง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำน่าน มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กควบคุมระดับน้ำโดยบานประตูระบายเหล็กโค้ง มีขนาดบานประตูความกว้างช่องละ 12.50 ม. สูง 10 ม. จำนวน 7 ช่อง อัตราการระบายน้ำสูงสุด 3,500 ลบ.ม. /วินาที มีระดับกักเก็บ +32.5 เมตร (รทก.) สามารถกักเก็บน้ำได้ 24.77 ล้าน ลบ.ม. โดยระยะกักเก็บน้ำในลำน้ำน่าน 44.5 กม. นอกจากนั้นยังมีทางผ่านปลาชนิด Pool Type Vertical Slot ความกว้าง 3 เมตร ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของประตูระบายน้ำ พร้อมประตูเรือสัญจรแบบแห้งชนิดเครนยกข้าม โดยมีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ 37,000 ไร่ ครอบคลุม 10 ตำบล 2 อำเภอ 2 จังหวัด ประกอบด้วย ตำบลฆะมัง ตำบลบ้านบุ่ง ตำบลท่าหลวง ตำบลป่ามะคาบ ตำบลปากทาง ตำบลท่าฬ่อ ตำบลไผ่ขวาง และตำบลย่านยาว อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร, ตำบลโคกสลุด และตำบลสนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
ทั้งนี้เมื่อกรมชลประทานดำเนินการตามแผนงาน 7 โครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ลำน้ำน่านสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 150.48 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิม 135,987 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ 27,027 ไร่ รวมพื้นที่ชลประทาน 163,014 ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค-บริโภค การประมง และการปศุสัตว์ สนับสนุนประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยวและกิจกรรมการใช้น้ำอื่นๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
นายฉัตรชัย ทองปอนด์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร กล่าวว่า
โครงการดังกล่าวจะช่วยกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง ในลักษณะเป็นขั้นบันได เกษตรกรสามารถสูบน้ำไปใช้ได้ตลอดลำน้ำน่าน และยังช่วยจัดการจราจรระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่อ่าวไทยได้อีกด้วย ซึ่งผลการศึกษาฯ จะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2567 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2570 ใช้ระยะวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่เหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนสิริกิติ์ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ส่งผลให้พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมชลฯ จะเร่งผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จโดยเร็ว
นายเดวิด ปินใจ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลฆะมัง ตัวแทนนางสาวนันทนี มีแผนไผ่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฆะมัง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า จากที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำที่ขาดแคลนในช่วงฤดูแล้ง หากมีการสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน โครงการประตูระบายน้ำฆะมัง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร จะช่วยให้ชาวบ้านที่มีอาชีพทำการเกษตรสามารถทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ 12 หมู่บ้าน อีกทั้งจะช่วยแก้ไขเรื่องของน้ำประปาที่จะทำให้ชาวบ้านมีน้ำกิน น้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี ที่จะสร้างคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้ดียิ่งขึ้น
ทางด้านนายประเสริฐ ศรีปัญญา ตัวแทนผู้ใช้น้ำประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำจังหวัดพิจิตร บอกว่า
ที่ผ่านมาชาวบ้านมีปัญหาในเรื่องของการใช้น้ำมาตลอด โดยเฉพาะผู้ใช้น้ำฝั่งซ้าย หากมีอาคารบังคับน้ำ เกิดขึ้น ช่วยให้ชุมชนริมฝั่งน้ำน่านทั้งในจังหวัดพิจิตรและใกล้เคียงนั้น ได้ประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกรที่ทำนา ทำสวนผลไม้ ทำไร่ จะได้มีน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี รวมถึงน้ำประปาของหมู่บ้านด้วย ที่ยังต้องพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำน่าน และชาวบ้านก็รอให้มีการก่อสร้างในเร็ววันด้วย
+ There are no comments
Add yours