CIOSH Thailand 2024 ระหว่าง 5-7 มิ.ย.นี้

1 min read

ประเทศไทย เตรียมจัดงาน CIOSH Thailand 2024 งานแสดงนวัตกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ครั้งแรก 5-7 มิ.ย.นี้ ที่ ไบเทค บางนาฯ

ชี้ภาคเอกชนประสานเสียงไทยมีแนวโน้มขาดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ PPE หลังพบปัจจัยเสี่ยงบุคลากรภาคก่อสร้าง-สาธารณสุข

R-U-GO.COM:เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ปักหมุด “ประเทศไทย” พื้นที่ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม PPE เตรียมจัด “มหกรรมงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีนานาชาติสำหรับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล” (CIOSH Thailand 2024) ครั้งแรก

เชื่อมโยงนวัตกรรมด้านความปลอดภัยระดับโลกกับดีมานด์ภาคอุตสาหกรรม พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยขั้นสูง ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า

ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุในที่ทำงานและอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน หลังพบสถิติผู้ปฏิบัติในภาคอุตฯ เสียชีวิตโดยเฉลี่ย 1,000 รายต่อปี โดยเฉพาะกลุ่มงานก่อสร้างและสาธารณสุข

พร้อมกันนี้เตรียมผนึกกำลังภาคเอกชนร่วมแสดงผลงานเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้เข้าถึงอุปกรณ์ PPE ที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน โดยในงานพบไฮไลท์นวัตกรรมจากผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ PPE กว่า 280 ราย

นายเกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จำกัด เปิดเผยว่า

“เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ในฐานะผู้นำการจัดงานแสดงสินค้าที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับโลก โดยเฉพาะด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในสถานที่ทำงานภาคอุตสาหกรรม มากกว่า 30 ปี เล็งเห็นถึงศักยภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะศูนย์กลางอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ของโลก หลังพบรายงานความต้องการใช้อุปกรณ์ PPE สูงถึง 8.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 ขณะที่ ‘ประเทศไทย’ ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรม PPE ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดที่ 21% โดยมีแรงหนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมหนัก การยกระดับข้อกฎหมายที่เข้มงวด การตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรม”

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย พร้อมด้วย สมาคมการค้าสิ่งทอประเทศจีน (CTCA) จึงได้เตรียมเร่งเครื่องจัด “มหกรรมงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีนานาชาติสำหรับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล” หรือ “CIOSH Thailand 2024” ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2567 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงนวัตกรรมด้านความปลอดภัยระดับโลกเข้ากับความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศ ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแล ผู้เชี่ยวชาญ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยขั้นสูง ครอบคลุมความปลอดภัยขณะปฏิบัติงานในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า สู่เป้าหมายในการลดอุบัติเหตุในที่ทำงานและอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ภายในงานเตรียมพบกับไฮไลท์นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยขั้นสูง จากผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ PPE กว่า 280 ราย ดังนี้

 อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ: หมวกนิรภัย สิ่งจำเป็นสำหรับการป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะที่เกิดจากวัตถุร่วงหล่นลงมา อันตรายจากไฟฟ้า และการกระแทกเหนือศีรษะ ซึ่งหมวกเหล่านี้มีหลายประเภทและการออกแบบที่ปรับให้เหมาะกับความเสี่ยงในสถานที่ทำงานโดยเฉพาะ

 อุปกรณ์ปกป้องระบบทางเดินหายใจ: เครื่องช่วยหายใจ ตัวเลือกการป้องกันระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่หน้ากากแบบใช้แล้วทิ้งไปจนถึงเครื่องช่วยหายใจแบบฟอกอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งแต่ละชิ้นได้รับการออกแบบมาเพื่อกรองสารปนเปื้อนเฉพาะ

 อุปกรณ์ปกป้องมือและแขน: ถุงมือ ปลอกแขน และถุงมือยาวที่ช่วยป้องกันการโดนบาด รอยถลอก การเจาะ การถูกไฟไหม้ และการสัมผัสสารเคมี โดยมีวัสดุและการออกแบบที่หลากหลายสำหรับงานเฉพาะด้าน

 รองเท้านิรภัยและอุปกรณ์ปกป้องขา: รองเท้านิรภัยและอุปกรณ์ปกป้องขาจะช่วยป้องกันอันตรายจากการทำงานต่างๆ รวมถึง สิ่งของหล่น อันตรายจากไฟฟ้า การลื่นหรือการสะดุดล้ม

 ผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษสำหรับชุดป้องกันและชุดทำงาน: ส่วนสำคัญในการผลิตชุดป้องกันและชุดทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายของพนักงาน

 ทั้งนี้ คาดว่าตลอดการจัดงาน 3 วันเต็ม จะมีซัพพลายเออร์และผู้ซื้อทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 6,000 ราย อย่างไรก็ดี CIOSH ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของงานแสดงสินค้าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ของ CIOSH ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกภายใต้ A+A ซึ่งเป็นงานอันดับ 1 ของโลกด้านความปลอดภัย ความมั่นคง และสุขภาพในที่ทำงานโดยกลุ่มเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ (Messe Düsseldorf) มากกว่า 50 ปี โดยจัดมาแล้วกว่า 5 ประเทศเมืองชั้นนำทั่วโลก อาทิ เยอรมนี อิสตันบูล สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ ด้วยมุ่งสร้างเวทีชั้นนำสำหรับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์อย่างครบวงจร นายเกอร์นอท กล่าวทิ้งท้าย

อาจารย์ชาญณรงค์ ไวยพจน์ เลขาธิการสมาคมวิศวกรรมความปลอดภัย กล่าวว่า

ที่ผ่านมาอุปกรณ์ PPE ได้รับการออกแบบและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนผ่านการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อให้ได้อุปกรณ์ PPE ที่สวมใส่สบาย รู้สึกมั่นใจและปลอดภัยตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า แต่ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดด้านการเข้าถึงอุปกรณ์ PPE ทำให้ยังพบบุคลากรเสียชีวิตขณะปฏิบัติงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มงานก่อสร้างและสาธารณสุข สมาคมวิศวกรรมความปลอดภัยจึงได้เปิด “คลินิกให้คำปรึกษาด้านความปลอดภัย” (Safety Clinic) ขึ้นภายในงาน CIOSH Thailand 2024 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นโซลูชันเสริมสร้างความมั่นคงให้กับอนาคตของภาคอุตสาหกรรม พร้อมรับมือกับความท้าทายด้านความปลอดภัย ตลอดจนสาธิตการใช้อุปกรณ์ PPE ที่ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ

นายสุรเชษฐ์ สีงาม อุปนายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร (BSA) กล่าวเสริมว่า

มาตรฐานและความปลอดภัยอาคารถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ด้วยองค์ประกอบที่ครอบคลุมเรื่องงานออกแบบโครงสร้างอาคาร การเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ แผนการดำเนินงานก่อสร้าง การบำรุงรักษา ฯลฯ เพื่อให้ผู้ใช้อาคารมีความปลอดภัย ตลอดจนป้องกันการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินในอนาคต ซึ่งมาตรฐานสำคัญขั้นพื้นฐานที่อาคารในไทยต้องมี ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ประกอบด้วย มาตรฐานความมั่นคงและแข็งแรงของอาคาร ระบบบริการภายในอาคาร อาทิ ระบบป้องกันเพลิงไหม้, ระบบบำบัดน้ำเสีย, ระบบลิฟต์ รวมถึงระบบบริหารการจัดการความปลอดภัยในอาคาร ทั้งนี้ ที่ผ่านมากว่า 2 ทศวรรษ ที่สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร สมาคมวิชาชีพของวิศวกรและสถาปนิก ได้เดินหน้าถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพ “ผู้ตรวจสอบอาคารในประเทศไทย” เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารในประเทศไทย

ด้าน นายอกนิษฐ์ สมิตะพินทุ นายกสมาคมบริหารงานจัดซื้อและซัพพลายเชนแห่งประเทศไทย (PSCMT) กล่าวว่า

นักจัดซื้อมีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากเราต้องซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อใช้งานจริง โดยเราสามารถกำหนดเงื่อนไขด้านความปลอดภัยให้ผู้รับเหมาได้ปฏิบัติ ตลอดจนส่วนที่มีโน้มน้าวให้ซัพพลายเออร์ขององค์กรปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยและการใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลที่มีมาตรฐาน และที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการดูแลสุขภาวะและความปลอดภัยของพนักงานจะเป็นการส่งเสริมเป้าหมายด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ขององค์กรอีกด้วย นอกจากนั้นการเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมและได้มาตรฐานแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการสนับสนุนให้เกิดการสวมใส่และใช้งานจริง โดยอาจจะสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับซัพพลายเออร์ อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่า (Value Added) ร่วมกันของนักจัดซื้อกับซัพพลายเออร์ หลายองค์กรยังเห็นว่าอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเหล่านี้เป็นต้นทุน นักจัดซื้อจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจถึงต้นทุนรวม อันที่จริงแล้วมีต้นทุนที่ซ่อนอยู่นั้นสูงมาก การลงทุนอุปกรณ์เพื่อบรรเทาอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วอาจความเสียหายที่สูงมาก

โดยการจัดงาน CIOSH Thailand 2024 จะเป็นการช่วยให้ผู้ออกงานได้พบปะกับผู้ซื้อในประเทศไทย และบรรดานักจัดซื้ออย่างพวกเราก็จะได้เห็นเทคโนโลยี ทั้งในด้านวัสดุ และอุปกรณ์การป้องกันอันตรายต่าง ๆ ตลอดจนได้พบผู้ขายรายใหม่ ๆ ในตลาดและมั่นใจว่างานนี้จะสนับสนุนให้เกิดทางเลือกและการแข่งขัน อันจะเป็นประโยชน์ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอย่างมาก อีกทั้งทางสมาคมได้มีการบรรยายหัวข้อ การพัฒนางานจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ (Enhancing Procure Safety Product with Sourcing Efficiency) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงวิธีการจัดซื้ออุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างมืออาชีพ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของสมาคมฯ อีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของงาน CIOSH Thailand 2024 ได้ที่เว็บไซต์ https://www.ciosh-thailand.com/

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

You May Also Like

More From Author

+ There are no comments

Add yours