สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการก่อสร้างสนามบินนานาชาติเกเลพูอย่างเป็นทางการ

1 min read

Gelephu International Airport Construction Begins

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก

เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการก่อสร้างสนามบินนานาชาติเกเลพูอย่างเป็นทางการ

R-U-GO.COM:สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก เสด็จพร้อมด้วย เจ้าชายจิกมี นัมเกล วังชุก มกุฎราชกุมาร และเจ้าชายจิกมี อุกเยน วังชุก เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการก่อสร้างสนามบินนานาชาติเกเลพู (Gelephu International Airport หรือ GIA) อย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี และพระราชโอรส พร้อมด้วยกลุ่มอาสาสมัครจากโครงการพัฒนาทักษะ Desuup และ Gyalsup กว่า 1,000 คน ร่วมประกอบพิธี zhabtog ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา โดยเหล่าประชนผู้มีจิตอาสา จะมาร่วมแรงร่วมลงมือก่อสร้างบ้านเรือน อนุสรณ์สถาน และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อชุมชนและประเทศชาติ

ในพิธียังมีคนสำคัญเข้าร่วม อาทิ นายกรัฐมนตรี ข้าราชการอาวุโสและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเกเลพู เมืองแห่งสติ (Gelephu Mindfulness City หรือ GMC) ตัวแทนจากคณะสงฆ์ภูฏาน พระลามะ และพระทรูลคู รวมถึงชาวเมืองเกเลพู นอกจากนี้ ยังมีพิธีสวดมนต์เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลในการก่อสร้างสนามบิน นำโดยพระดอร์จี โลแพน (Dorji Lopen) ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่รุ่งเช้า โดยมีวัดต่าง ๆ ในเขตก่อสร้างเข้าร่วมสวดมนต์อย่างพร้อมเพรียงกัน

ความสำคัญเชิงกลยุทธ์และการออกแบบ
สนามบินแห่งนี้ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตร บริเวณแม่น้ำไพธา ในเขตซาร์ปัง โดยจะทำหน้าที่เป็นประตูสู่ภูฏานทางตอนใต้ และเป็นศูนย์กลางสำคัญของเกเลพู เมืองแห่งสติ (Gelephu Mindfulness City) โดยจุดเด่นสำคัญของสนามบินมีดังนี้

• รันเวย์ตามมาตรฐานสากล CAT I Code 4 ความยาว 3,000 เมตร โดยในระยะแรกสามารถรองรับการใช้งานของเครื่องบิน Airbus A321 และ Boeing 737 และสามารถรองรับเครื่องบินลำตัวกว้างในอนาคต

• สามารถรองรับผู้โดยสารเริ่มต้นที่ 1.3 ล้านคนต่อปี และขยายได้ถึง 5.5 ล้านคน หรือมากกว่านั้นตามต้องการ

• อาคารผู้โดยสารออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจากระบบนิเวศป่าทั้ง 4 ของภูฏาน ได้แก่ ป่าไม่ผลัดใบ ป่าผลัดใบเขตหนาว ป่าผลัดใบเขตร้อน และป่ากึ่งร้อนชื้น

คุณสมบัติด้านวิศวกรรมและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

โครงการนี้ ออกแบบโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างข้อกำหนดทางวิศวกรรมและความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศ ได้แก่

• ระบบท่อระบายน้ำคอนกรีตรูปทรงสี่เหลี่ยม หรือ Box Culvert ช่วยคงการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำไพธาไว้ใต้รันเวย์

• การใช้พลังงานสะอาดและระบบระบายอากาศแบบธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและโอกาสในการจ้างงาน

สนามบินแห่งนี้ ตั้งเป้าเพื่อส่งเสริมการพัฒนาของภูมิภาคในส่วนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

• การสร้างโอกาสในการจ้างงานทั้งในระหว่างการก่อสร้างและการดำเนินงาน

• โครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานภูฏาน

• ความสามารถในการรองรับสินค้าขนส่งทางอากาศ เพื่อสนับสนุนการส่งออก

การผสานวัฒนธรรมและประโยชน์ต่อชุมชน
การออกแบบสนามบินสะท้อนถึงมรดกทางวัฒนธรรมของภูฏานผ่านแง่มุมต่าง ๆ ดังนี้

• งานหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่เป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ของอาคารผู้โดยสาร

• พื้นที่ภูมิทัศน์ที่จัดแสดงพรรณไม้พื้นถิ่นของภูฏาน

• การเชื่อมโยงกับการพัฒนาเกเลพู เมืองแห่งสติในอนาคต

มร.ลิว มัน ลอง (Liew Mun Leong) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักงานพัฒนาเกเลพู เมืองแห่งสติ (Gelephu Mindfulness City หรือ GMC) กล่าวว่า “พิธีเริ่มต้นการก่อสร้างสนามบินนานาชาติเกเลฟูในวันนี้ นอกจากเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างสนามบินอย่างเป็นทางการ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสานต่อพระราชปณิธานในการพัฒนาเกเลพู เมืองแห่งสติ และองค์ประกอบสำคัญที่จะนำโลกมาสู่ภูฏาน และนำภูฏานออกสู่สายตาชาวโลก อีกทั้งจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงภูฏานทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม จากประสบการณ์ที่ได้เคยมีส่วนร่วมในการพัฒนาและดำรงตำแหน่งประธานสนามบินชางงี เชื่อได้ว่าสนามบินแห่งนี้จะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศและประชาชนได้ สนามบินนานาชาติเกเลฟู นับเป็นสัญลักษณ์ของความพร้อมของภูฏานในการเปิดรับโลกภายนอกอย่างมีสติ รอบคอบ และมีเป้าหมาย เพื่อยกระดับมาตรฐานใหม่ของการพัฒนาอย่างมีความหมายและสมดุล”

กำหนดการก่อสร้าง
• กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เริ่มงานถมดิน
• มิถุนายน พ.ศ. 2569 เริ่มการก่อสร้างหลัก
• กรกฎาคม พ.ศ. 2571 เข้าสู่ขั้นตอนขอรับรองสนามบิน
• มีนาคม พ.ศ. 2572 อาคารผู้โดยสารแล้วเสร็จ
• กรกฎาคม พ.ศ. 2572 เริ่มเตรียมความพร้อมด้านปฏิบัติการและส่งมอบสนามบิน
• 17 ธันวาคม พ.ศ. 2572 พิธีเปิดสนามบินอย่างเป็นทางการ

เกี่ยวกับเมืองเจริญสติแห่งเกเลฟู (Gelephu Mindfulness City)

เกเลพู เมืองแห่งสติ (Gelephu Mindfulness City หรือ GMC) เป็นเขตปกครองพิเศษ ที่ถือเป็นโครงการเชิงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจระดับโลกที่ในพื้นที่ราบตอนใต้ของภูฏาน โดยยึดถือแกนสำคัญได้แก่ สติ ความยั่งยืน และนวัตกรรม เป็นเขตปกครองที่มีเป้าหมายเพื่อผสานคุณค่าดั้งเดิมของภูฏาน เข้ากับกฎหมายและกรอบแนวคิดที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งนำการออกแบบและเทคโนโลยีล้ำสมัยมาปรับใช้ โดยอาศัยพลังงานสะอาดอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบแห่งการพัฒนาแบบองค์รวมระดับโลก

สามารถเยี่ยมชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.gmc.bt หรือสอบถามข้อมูลได้ที่อีเมล info@gmc.bt และ invest@gmc.bt

You May Also Like

More From Author

+ There are no comments

Add yours