สำนักพุทธฯ ชูวัดคลองตาลองเป็นโมเดล“สำนักปฏิบัติธรรมกับการขัดเกลาสังคมไทยในยุคดิจิทัล”

 

สำนักพุทธฯ พาสื่อเยี่ยมชมสำนักปฏิบัติธรรม ภายใต้กิจกรรมสื่อสัญจร “สำนักปฏิบัติธรรมกับการขัดเกลาสังคมไทยในยุคดิจิทัล” หวังสร้างความรู้ ความเข้าใจในการเผยแผ่พุทธศาสนาไม่ว่าจะเชิงลบ หรือเชิงบวกให้สังคมได้รับรู้

 R-U-GO.COM: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  จัดกิจกรรมสื่อสัญจร “สำนักปฏิบัติธรรมกับการขัดเกลาสังคมไทยในยุคดิจิทัล” พาสื่อเยี่ยมชมสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดนครราชสีมา  เพื่อเผยแพร่งานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์  และเสริมสร้างให้สถาบันและกิจการทางพระพุทธศาสนามีความมั่นคงยั่งยืน  ในยุคของสังคมดิจิทัล  โดยมี นายณรงค์ ทรงอารมณ์    รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ   ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการนำคณะสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรม ระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2561 – 1 กุมภาพันธ์ 2562 ณ วัดคลองตาลอง อำเภอปากช่อง  จังหวัดนครราชสีมา

นายณรงค์ ทรงอารมณ์   กล่าวว่า  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีภารกิจสนองงานคณะสงฆ์และรัฐบาล  ในการทำนุ บำรุง ส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา  ให้การสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาบุคลากรทางศาสนา  และเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญมั่นคง ยั่งยืน  รวมทั้งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจอันดี  ระหว่างภาครัฐกับคณะสงฆ์และภาคประชาชน

เพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดย สำนักงานเลขานุการกรม กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่  จะต้องได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อให้การดำเนินภารกิจตามนโยบายเป็นไปด้วยความราบรื่น  โดยต้องอาศัยสื่อมวลชนดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ

จึงกำหนดจัดโครงการศึกษาดูงานสื่อมวลชนสัญจร “สำนักปฏิบัติธรรมกับการขัดเกลาสังคมไทยในยุคดิจิทัล” ขึ้น  เพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจอันดีระหว่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกับสื่อมวลชนให้มีความใกล้ชิดและเชื่อมั่นในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน พร้อมที่จะให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติด้วยความเต็มใจ

ทั้งนี้ กิจกรรมสื่อสัญจร “สำนักปฏิบัติธรรมกับการขัดเกลาสังคมไทยในยุคดิจิทัล” จัดขึ้นในระยะเวลา 2 วัน 1 คืน  โดยกิจกรรมหลักคือพาสื่อมวลชนเยี่ยมชม  วัดคลองตาลอง  ซึ่งเป็นวัดที่ได้รับยกย่องให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมดีเด่นประจำจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ 20 ประจำปี พ.ศ. 2552  และยังเป็นวัดที่มีการอนุรักษ์และรักษาป่าไม้ ในโครงการพัฒนาป่าไม้  โดยร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่   (นครราชสีมา) ในการรณรงค์รักษาป่าไม้

โดยคณะได้เข้ากราบมนัสการ พระภาวนาพัฒนานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดคลองตาลอง วัดคลองตาลอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านบันไดม้า ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนคคราชสีมา มีเนื้อที่ทั้งหมด 15 ไร่ 2 งาน

ด้านนายณรงค์ได้ยกให้วัดคลองตาลองเป็นต้นแบบ“สำนักปฎิบัติธรรมกับการขัดเกลาสังคมไทยในยุคดิจิทัล” เพราะว่าวัดแห่งนี้ได้ใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีมาช่วยเผยแพร่พุทธศาสนาได้มีอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เข้าถึงพุทธศาสนาได้อย่างเป็นวงกว้าง

“ยุคนี้เป็นยุค 4.0 ซึ่งคำว่า 4.0  มันตีความได้กว้างมาก อย่างหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดคลองตาลองสอนเราเรื่องสวดมนต์แล้วเราจะได้รับอานิสงส์  ถ้าเปรียบการสวดมนต์กับเทคโนโลยี การสวดมนต์ก็เปรียบเหมือนเราฟังอะไรสักอย่างหนึ่งจากวิทยุ เรื่องที่เราฟังก็จะเข้าไปโสตประสาทแล้วโสตประสาทก็ตีความ มันสมองก็ตีออกมาว่า จิตมันจะสงบ มันก็ไปสั่งองคาพยพของร่างกาย จิตก็จะเกิดเป็นอานิสงส์เกิดขึ้น

หลวงพ่อสอนเรื่องอานิสงส์ของการสวดมนต์ในขณะเดียวกัน หลวงพ่อก็เอาการสวดมนต์เป็นธุรกิจ นำไปเผยแผ่ที่ประเทศรัสเซีย ทำให้คนรัสเซียเข้าใจการสวดมนต์ วันนี้เขาเปิดใจรับพุทธศาสนามากขึ้น ซึ่งทั่วโลกได้เปิดใจรับก็เพราะว่า ทุกสำนักปฏิบัติธรรมใช้เทคโนโลยีเขามาช่วยในการเผยแผ่ โดยเฉพาะวัดคลองตาลองนั้น จะใช้วิธีการสอนธรรมะด้วยด้วยการไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งสามารถเผยแผ่ไปได้ทั่วโลก นี่คือตัวอย่างของสำนักปฏิบัติธรรมในยุคดิจิทัล”  นายณรงค์ยกตัวอย่างสำนักปฏิบัติธรรมกับการขัดเกลาสังคมไทยในยุคดิจิทัลที่ทำได้ตามแบบสำนักพุทธฯตั้งเป้า หนึ่งในนั้นก็คือวัดคลองตาลองแห่งนี้

นอกจากนี้นายณรงค์ได้ให้สัมภาษณ์กับ R-U-GO.COM   เรื่องโครงการกิจกรรมสื่อสัญจร “สำนักปฏิบัติธรรมกับการขัดเกลาสังคมไทยในยุคดิจิทัล”   ว่า

“โครงการนี้เป็นการพาสื่อมวลชนสัญจรออกมานอกสถานที่ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการเผยแผ่พุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเชิงลบ หรือเชิงบวกให้กับสังคม ให้สังคมได้รับรู้ เพราะทุกวันนี้เรื่องการรับรู้พุทธศาสนาก็ดี ข่าวต่างๆ ก็ดี ในยุคไทยแลนด์ 4.0  ทุกอย่างจะเป็นโซเชียลมีเดียทั้งหมด ไม่จำเป็นที่จะต้องอ่านจากหน้าหนังสือพิมพ์ หรืออ่านบทความต่างๆ แต่สามารถเข้าไปดูในโชเซียลได้ทันที และยังสามารถดูย้อนหลังได้ด้วย

สำนักพุทธฯเราได้เข้าไปแก้ไขหรือยับยั้งกับข่าวที่มีลักษณะภาพเสื่อมเสีย  เราจะทำอย่างไรให้สื่อได้ทำงานในเชิงรุกร่วมไปกับเรา ซึ่งเรามีการจัดทำสื่อในหลายๆ ตัว เป็นการประชาสัมพันธ์บ้าง บางครั้งการเป็นข่าวฉับพลันทางสำนักพุทธฯก็จะรับผิดชอบข่าวในส่วนนี้ให้กับพี่น้องสื่อมวลชนเพื่อนำไปแพร่แพร่ได้อย่างเหมาะสม

ทางสำนักพุทธฯ มีการจัดทำประชาสัมพันธ์งานในสำนักงานต่างๆ ในลักษณะคิวอาร์โค้ด ซึ่งคิวอาร์โค้ดเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานในเชิงรุก เป็นตัวชี้วัดความสำคัญที่จะทำงานร่วมกันกับ ก.พ.ร.(สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ) ซึ่งจะเป็นการบ่งบอกถึงศักยภาพของผู้บริหารระดับสูงด้วยว่า มีการทำงาน การข่าวไปในเชิงรุกแบบไหนบ้าง

วันนี้สำนักงานพุทธฯ มีการดำเนินการไปหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ก็ดี หรือเฟซบุ๊ก ก็ได้มีการปรับให้น่าดู ให้ดูทันสมัยขึ้น

การทำงานในยุคไอที ผมได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็น ซีไอโอ การทำงานผูกพันกับสารสนเทศกระทรวง การทำงานต่อไปนี้ต้องมีการแชร์ข้อมูลกัน เราต้องรู้ทุกเรื่องในสำนักงานพุทธฯ รู้เรื่องเทคโนโลยี รู้เรื่องวิธีการที่จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ออกไปข้างนอก เขาได้เอาเราไปทำงานในส่วนนี้ด้วย ซึ่งทุกสำนักงานในสำนักงานพุทธฯ ต้องมีตัวแทน เข้าไปอยู่ในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ เรียกกันว่า   “ซีไอโอ” วันนี้เราได้ทำ ได้ดำเนินการมาหลายอนุภาค ทุกภาคส่วนของสำนักงานพุทธฯ เราขับเคลื่อนเต็มที่ เราเห็นได้กับโครงการนี้ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่ง ว่าเราได้เชิญสื่อมาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน ในเรื่องการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวทั้งเชิงบวกว่าจะต้องเผยแพร่ยังไง เชิงลบจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้มีผลภาพลบที่จะไปกระทบกับพุทธศาสนา ซึ่งศาสนาพุทธเป็นเรื่องความมั่นคง ซึ่งเป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักขอประเทศเรา”

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *